ประกันสุขภาพผู้สูงอายุ ซื้อดีไหม ทำเอาไว้ ดีอย่างไร? มีรายละเอียดที่ต้องศึกษามากกว่าการทำประกันของวัยอื่นๆ เนื่องจากการรับประกันภัยของแต่ละบริษัทอาจจะปฏิเสธผู้เอาประกันภัยที่เคยมีโรคประจำตัวมาก่อน แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้มีแผนประกันที่บอกว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ และไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ” ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภค จะต้องทราบความคุ้มครองต่างๆ ให้ละเอียด
ประกันสุขภาพ คุ้มครองอะไรบ้าง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ให้คำจำกัดความของการประกันสุขภาพไว้ว่า “เป็นการประกันภัยที่บริษัทประกันภัยตกลงจะชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้น จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้แก่ผู้เอาประกันภัย” โดยรวมค่าใช้จ่าย 7 อย่าง ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว ได้แก่ ค่าห้องและค่าอาหาร, ค่าบริการทั่วไป และค่าใช้จ่ายกรณีเข้ารักษาฉุกเฉิน
2. ค่าใช้จ่ายจากการผ่าตัด อาทิ ค่าปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการผ่าตัด
3. ค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการให้แพทย์มาดูแล (ค่าแพทย์เข้าเยี่ยม)
4. ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD)
5. ค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร
6. ค่าใช้จ่ายจากการรักษาฟัน
7. การชดเชยค่าใช้จ่าย เช่น ชดเชยรายได้รายวัน
ประกันสุขภาพผู้สูงอายุ ซื้อดีไหม ทำเอาไว้ ดีอย่างไร?
ดังนั้น หากคุณมองหาประกันสุขภาพผู้สูงอายุ มักจะหมายถึง ประกันที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ
แต่แผนประกันสำหรับผู้สูงวัยในปัจจุบัน ที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้สมัครขอเอาประกันภัย มักจะคุ้มครองดังนี้
ชดเชยรายได้รายวัน เมื่อต้องนอนโรงพยาบาล
รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับทุนประกันที่จ่าย
สรุปได้ว่า การทำประกันสุขภาพผู้สูงอายุ แบบหวังผลให้ช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเมื่อต้องแอดมิตเป็นผู้ป่วยใน หรือผู้ป่วยนอก จะต้องทำในช่วงอายุไม่เกิน 60-70 ปี และต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยมีประวัติโรคประจำตัวหรือโรคร้ายแรง แต่หากเป็นแผนประกันที่ให้ชดเชยรายได้รายวันอย่างเดียว อาจจะไม่เรียกว่า “ประกันสุขภาพ” ได้ แต่เป็นประกันชีวิตพ่วงสัญญาแนบท้าย เพียงแค่รับเงินชดเชยรายได้รายวันมาจ่ายเป็นค่ารักษาเท่านั้น